วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

ข่าว10 พบสารเคมีต้องห้ามเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ตกค้างในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทรแปซิฟิก

พบสารเคมีต้องห้ามเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ตกค้างในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทรแปซิฟิก

มหาสมุทรแปซิฟิก

บทความเชิงวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิวัฒนาการทางธรรมชาติและระบบนิเวศ (Nature and Ecology Evolution) ระบุว่าสารก่อมลพิษ PCBs และ PBDEs ที่ถูกพบปะปนอยู่ในระบบนิเวศใต้ทะเลลึกในปริมาณเข้มข้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจ
สารเคมีเหล่านี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งหลังจากนั้นก็พบว่าเป็นพิษและสะสมในสภาพแวดล้อม
ดร.อลัน เจมีสัน และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ได้เก็บตัวอย่างจากเนื้อเยื่อไขมันของแอมฟิพอด (สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งชนิดหนึ่ง) ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้ยานดำน้ำสำรวจพื้นมหาสมทุรที่ออกแบบมาพิเศษ ปล่อยจากเรือที่ลอยอยู่เหนือร่องน้ำมารีอานา และเคอร์มาเดค ลึกลงไป 10 กิโลเมตร และห่างกัน 7,000 กิโลเมตร
แอมฟิพอด ถูกนำขึ้นมาจากร่องน้ำเคอร์มาเดคและมารีอานา ในมหาสมุทรแปซิฟิก
สารที่ไม่ย่อยสลาย
สารก่อมลพิษที่พบในตัวแอมฟิพอด รวมถึง โพลีคลอรีเนต ไบเฟนิล (PCBs) และโพลีโบรมิเนต ไดเฟนิล เอเธอร์ (PBDEs) ซึ่งใช้ในการผลิตฉนวนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุทนไฟ
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการผลิต PCB เมื่อปี 1979 และในปี 2001 ก็มีการลงนามในอนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants)
แต่ปริมาณการผลิตสาร PCBs ทั่วโลก จากช่วงปี 1930 จนถึงที่ถูกสั่งห้ามในปี 1970 คาดว่าจะมีถึง 1.3 ล้านตัน ซึ่งสารที่ถูกปล่อยสู่สภาพแวดล้อมทั้งจากอุบัติเหตุในอุตสาหกรรม และการไหลซึมจากกองขยะ สามารถทนทานต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติได้ ทำให้ยังคงตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อม และในผลการศึกษาระบุว่า ยากที่จะขยายขอบเขตการวิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนของสารที่พบบริเวณพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก โดยสาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการใช้วิธีวัดค่าและเก็บข้อมูลสารปนเปื้อนที่ต่างกันในผลศึกษาก่อนหน้านี้
พบสารเคมีในห่วงโซ่อาหาร
รายงานระบุด้วยว่า ระดับสาร PBCs พี่พบในร่องน้ำลึกมารีอานา สูงกว่าที่พบในตัวปูจากบริเวณทุ่งนาที่รับน้ำจากแม่น้ำเลี่ยวเหอ ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดในจีน โดย ดร.เจมีสัน กล่าวว่า "แอมฟิพอด ที่เก็บตัวอย่างได้ มีระดับสารพิษปนเปื้อน มากพอ ๆ กับในอ่าวซูรุกะ ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะสูงที่สุดของทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก"
มหาสมุทรแปซิฟิก
นักวิจัยคาดว่า สาร PCBs และ PBDEs ไหลลงไปสะสมอยู่ในร่องน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับขยะพลาสติกปนเปื้อนและซากสัตว์ที่จมลงสู่ใต้ทะเล ซึ่งต่อมากลายเป็นอาหารของแอมฟิพอดและสัตว์ทะเลน้ำลึกอื่น ๆ โดยคณะผู้เขียนรายงานผลการศึกษา ระบุว่า เบื้องลึกของมหาสมุทร อาจกลายเป็น "อ่างเก็บ" หรือแหล่งรวมสารมลพิษได้ นอกจากนี้ ก็ให้เหตุผลว่า สารเคมีจะสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเมื่อจมลงถึงระดับน้ำลึกในมหาสมุทร ความเข้มข้นก็จะสูงกว่าที่บริเวณใกล้ผิวน้ำ
ด้านเคเธอรีน แดฟฟอร์น แห่งมหาวิทยาลัย นิวเซาท์ เวลส์ ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาชิ้นนี้ กล่าวว่า "แม้คณะนักวิจัย จะสามารถวัดความเข้มข้นของสาร PCBs และ PBDEs ได้ในตัวสัตว์น้ำเปลือกแข็งที่อยู่บริเวณร่องน้ำลึกในมหาสมุทร แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลมากนักในแง่แหล่งที่มา และกลไกของการไหลมารวมกันบริเวณนี้ และยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบที่เป็นพิษของสารเหล่านี้ ซึ่งอ้างว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดการเพิ่มปริมาณทางชีวภาพสู่ห่วงโซ่อาหาร ก็ยังรอการทดสอบอยู่" แต่อย่างน้อย ผลการศึกษานี้ก็ "เป็นหลักฐานว่าส่วนที่ลึกลงไปของมหาสมุทร ไม่ใช่ส่วนที่อยู่ห่างไกลออกไป กลับมีความเชื่อมโยงกับผิวน้ำด้านบน และยังได้รับสารมลพิษที่ก่อโดยมนุษย์ในปริมาณเข้มข้นด้วย"


ที่มา:https://www.bbc.com/thai/international-39057387

2 ความคิดเห็น: